American

ตายประชดป่าช้า American Fiction

จนถึงขณะนี้ หนัง 10 เรื่องที่ได้รับการเสนอชื่อเข้าชิงรางวัลออสการ์ สาขาภาพยนตร์ยอดเยี่ยม เข้าฉายบ้านเราไปแล้วเกือบครบ ยกเว้นเพียง American Fiction ซึ่งมาเผยแพร่ทางสตรีมมิงใน prime video เข้าชิงออสการ์ 5 สาขา คือหนังเยี่ยม, ดารานำชาย (เจฟฟรีย์ ไรท์), ดาราสมทบชาย (สเตอร์ลิง เค. บราวน์), ดนตรีประกอบ และบทภาพยนตร์ดัดแปลง (จากนิยายเรื่อง Eraser ของเพอร์ซิวัล เอฟเวอเร็ตต์) เทียบกับบรรดาคู่แข่ง ซึ่งล้วนแล้วแต่แข็งแกร่งและอยู่ในระดับเขี้ยวลากดิน โอกาสเป็นผู้ชนะของ American Fiction ดูจะเป็นไปได้ยาก ประมาณว่าแค่ได้เข้าชิงก็สวยหรูแล้ว

American Fiction

อย่างไรก็ตาม สาขาที่มีลุ้นมากสุด (และได้รับรางวัลไปแล้วเรียบร้อย) คือบทภาพยนตร์ดัดแปลง เขียนโดย คอร์ด เจฟเฟอร์สัน ซึ่งรับหน้าที่ผู้กำกับหนังเรื่องนี้ด้วย American Fiction เป็นงานประเดิมกำกับหนังครั้งแรกของเขา คอร์ด เจฟเฟอร์สันเติบโตมาในสายคนเขียนบท (ส่วนใหญ่เป็นการเขียนบทซีรีส์) ผลงานเด่นๆ ก็เช่น ซีรีส์เรื่อง Master of None, The Good Place และ Watchmen ผมไม่มีโอกาสอ่านนิยายที่เป็นต้นฉบับ แต่เท่าที่ดูจากหนัง ซึ่งดัดแปลงเสร็จสรรพเรียบร้อยแล้ว เรื่องเดิมจะเป็นเช่นไรไม่อาจหยั่งทราบ แต่ผลรวมที่ปรากฏคือนี่เป็นหนังที่มีการเขียนบทและเล่าเรื่องได้อย่างชาญฉลาด

 

เรื่องราวทั้งหมดในหนังเล่าผ่านตัวละครจุดศูนย์กลาง เป็นหนุ่มใหญ่วัยกลางคนผิวดำชื่อเทโลเนียส เอลลิสัน แต่ทุกคนสะดวกปากที่จะเรียกเขาในชื่อเล่นว่า ‘มังค์’ มากกว่า (โดยมีเจตนาให้เชื่อมโยงไปถึง เทโลเนียส มังค์ นักเปียโนแจ๊สและนักแต่งเพลงระดับตำนาน)

 

‘มังค์’ มีอาชีพอาจารย์สอนวิชาวรรณกรรมในมหาวิทยาลัย (ที่แอล.เอ.) และเป็นนักเขียนนิยายที่มีผลงานตีพิมพ์จำนวนหนึ่ง ทุกเรื่องล้วนได้รับคำชื่นชมจากนักวิจารณ์ แต่ล้มเหลวสนิทในแง่ยอดขาย นิยายของมังค์ มักมีที่มาจากเทพปกรณัมคลาสสิก แต่ดัดแปลงให้เป็นเหตุการณ์ร่วมสมัย ตัวละครเต็มไปด้วยความซับซ้อน จัดอยู่ในข่ายงานเขียนที่ต้องปีนบันไดอ่าน และสิ่งสำคัญที่ทำให้ผลงานของเขาไม่เป็นที่นิยม คือมันเป็นนิยายที่เขียนโดยคนดำ แต่ไม่ดำพอ

 

พูดง่ายๆ คือนิยายของมังค์ปลอดพ้นจากขนบคุ้นเคย และสิ่งที่ผู้อ่านคาดหวังเรียกร้องต้องการจากวรรณกรรมแนวแอฟริกัน-อเมริกัน เช่นว่าสภาพชีวิตความเป็นอยู่ย่ำแย่เลวร้ายในถิ่นย่านเสื่อมโทรม การพัวพันกับยาเสพติด อาชญากรรม การเหยียดผิวเหยียดเชื้อชาติ การถูกล่วงละเมิดทางเพศ (ในหนังใช้คำว่า Stereotype ขณะคำบรรยายไทยแปลว่า ‘เหมารวม’ เพื่อใช้อธิบายถึงสูตรสำเร็จทางวรรณกรรมต่างๆ ที่กล่าวมา)

Scroll to Top