มนุษย์ชอบเรื่องลี้ลับตั้งแต่ตอนไหนคงไม่มีใครทราบ เพราะความกลัวคือหนึ่งในความบันเทิงของมนุษย์ที่มีมาอย่างยาวนานจวบจนปัจจุบัน ไม่ว่าจะเรื่องภูตผีปีศาจ ตำนานเมือง เวทมนตร์ หรือในยุคร่วมสมัยที่เรามีทฤษฎีสมคบคิด (Conspiracy Theory) อ้างอิงหลักวิทยาศาสตร์อย่างเอเลียนหรือมอนสเตอร์ แต่จะเป็นอย่างไรถ้าทั้งสองเรื่องเหนือธรรมชาติถูกยำรวมกันจนกลายเป็นอนิเมะน้องใหม่ไฟแรงอย่าง Dandadan เรื่องราวแสนวายป่วงเริ่มขึ้นจาก ‘อายาเสะ โมโมะ’ (Ayase Momo) เด็กสาวมัธยมปลายผู้เชื่อในเรื่องผี และ ‘ทาคาคุระ เคน’ (Takakura Ken) หรือในอีกชื่อว่า ‘โอคารุน’ เด็กชายผู้เชื่อในเรื่องของสิ่งมีชีวิตต่างดาว ทั้งสองได้ท้าพิสูจน์ในสิ่งที่ตนเชื่อ และปรากฏว่าทั้งผีและเอเลียนดันมีอยู่จริงๆ เสียด้วย
ทั้งคู่จึงต้องจำใจร่วมทีมฝ่าฟันต่อสู้กับพวกมัน ผ่านเรื่องราวแสน ‘กาว’ ที่พาให้เราหัวเราะเคล้าน้ำตาไปตลอดทั้งเรื่องแม้ภายนอกอาจดูเหมือนอนิเมะโชเน็งพลังมิตรภาพตามปกติ แต่อย่าประมาทเด็ดขาด เพราะ Dandadan พร้อมเสิร์ฟเนื้อหาหนักๆ ที่พาให้เราตับสั่นอยู่ไม่น้อย ทั้งประเด็นปัญหาสังคม การสูญเสีย ความโหดร้ายของมนุษย์ที่น่ากลัวเสียยิ่งกว่าผีหรือเอเลียน คอลัมน์เนื้อหนังจึงขอพาทุกคนมองย้อนกลับมาสำรวจความกลัวของมนุษย์อย่างรอบด้านอีกครั้ง และตั้งคำถามถึงสิ่งที่เราควรกลัวจริงๆ ว่าคืออะไรกันแน่
ความกลัวที่มนุษย์สร้างขึ้น
“ถ้าเราเลี้ยงเด็กคนหนึ่งขึ้นมาโดยไม่ให้รับรู้เรื่องผีเลย เด็กคนนั้นจะกลัวผีหรือไม่”
หนึ่งในคำถามที่ตั้งแง่เกี่ยวกับความกลัวของมนุษย์ เพราะหากเราร้อยเรียงประวัติศาสตร์ความกลัวของ ‘สัตว์โลก’ มนุษย์นั้นถือว่าแปลกออกไป สัญชาตญาณการเอาตัวรอดของคนและสัตว์ดูเหมือนคล้ายกันแต่ความจริงกลับแตกต่างสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมส่วนใหญ่กลัวสิ่งที่เป็นรูปธรรมที่สามารถทำอันตรายกับตัวมัน เช่น ความร้อนจากไฟ เสียงดัง แสงสว่างที่จ้าเกินไป การทำร้ายร่างกาย หรือกลิ่นเหม็น ลิงใหญ่อย่างเราเองก็กลัวสิ่งเหล่านี้เช่นเดียวกัน แต่มากกว่านั้นคือเรากลัวสิ่งที่เป็น ‘นามธรรม’ แบบที่ไม่มีสัตว์อื่นเป็นด้วย ผี เทพเจ้า หรือแม้แต่เอเลียน เราคงไม่สามารถบอกได้อย่างชัดเจนว่ามีจริงหรือไม่ มันเป็นเพียงพื้นที่หมอกหนาเบลอๆ ที่เรายังไม่รู้ และด้วย ‘ความไม่รู้’ นั้นยิ่งกลับทำให้เรากลัวอย่างหาเหตุผลไม่ได้ การอุปาทานหมู่จึงเกิดขึ้นได้ง่ายมากในสังคมที่ยังขาดการคิดเชิงวิพากษ์ (Critical Thinking) เพราะเราไม่เคยตั้งคำถามและหาคำตอบในความสะพรึงที่มองไม่เห็นเหล่านั้น เราเพียงแค่เชื่อตามๆ กันมา
ยกตัวอย่างในดันดาดันที่ตัวของโอคารุน ผู้มีความเชื่อในวิทยาศาสตร์และคิดว่าผีวิญญาณเป็นแค่เรื่องงมงาย แต่เมื่อได้เผชิญกับ ‘ผียายแก่เทอร์โบ’ ตัวเขากลับหวาดกลัวและวิ่งหนีอย่างไม่คิดชีวิต นั่นเป็นเพราะความไม่รู้และความคิดฝังหัวที่ว่า ผี = น่ากลัว เมื่อเจอเราต้องหนีไว้ก่อนแต่เมื่อโอคารุนได้รับรู้ถึงเรื่องราวของยายแก่และพบเจอผีวิญญาณมากขึ้น ตัวเขาเองก็ไม่ได้หวาดกลัวในความเป็น ‘ผี’ อีกต่อไป เพราะโอคารุนเข้าใจว่าวิญญาณเหล่านี้ก็มีทั้งดีและชั่วเหมือนมนุษย์ทั่วไปในสังคม ไม่ตีตราตัดสินเพียงเพราะแค่เป็นผีเท่านั้นแม้หลายคนจะมองว่าเรื่องผีหรือเอเลียนเป็นเรื่องงมงาย แต่คงปฏิเสธไม่ได้ว่าเรื่องลึกลับเหล่านี้คือหนึ่งในความบันเทิงยุคปัจจุบัน หลายคนชอบฟังเรื่องลี้ลับเป็นเพื่อนเวลาขับรถหรือทำงาน เพราะบางครั้งความกลัวก็มีความสนุกแบบขนหัวลุกอยู่เช่นกัน