ในการประกาศผลรางวัลครั้งล่าสุด หนังเรื่อง Killers of the flower Moon ของมาร์ติน สกอร์เซซี ได้รับการเสนอชื่อเข้าชิงมากถึง 10 สาขา แต่จบลงด้วยการกลับบ้านมือเปล่า ไม่ได้อะไรติดมือเลย ย้อนถอยกลับไปก่อนหน้านั้น ปี 2013 The Wolf of Wall Street เข้าชิง 5 สาขา ปี 2019 The Irishman เข้าชิง 10 สาขา ต่างลงเอยด้วยจำนวนรางวัลเป็นเลขศูนย์สะอาดหมดจด
นี่ยังไม่นับรวม การเข้าชิงในสาขาผู้กำกับยอดเยี่ยมถึง 10 ครั้ง Killers of the flower Moon สมหวังเพียงหนเดียว จากเรื่อง The Departed ในปี 2006 ผลลัพธ์ดังกล่าว หากเกิดขึ้นกับคนทำหนังอื่นๆ อาจดูเป็นความพ่ายแพ้น่าผิดหวัง แต่สำหรับมาร์ติน สกอร์เซซีแล้ว ถือเป็นเหตุการณ์เล็กน้อย ไม่มีอะไรสลักสำคัญถึงขั้นทำให้จิตตก
พูดอีกแบบ ความพ่ายแพ้ซ้ำๆ บนเวทีออสการ์ แค่เพียงสะท้อนให้เห็นว่าหนังของเขามีกระแสนิยมไม่แรงมากพอจะเป็นผู้ชนะ แต่การเข้าชิงอย่างต่อเนื่องสม่ำเสมอต่างหาก ที่เป็นเครื่องพิสูจน์ยืนยันถึงมาตรฐานฝีมืออันยอดเยี่ยมคงเส้นคงวา ชนิดยากจะหาใครเท่าเทียมเสมอเป็นคนที่สอง ที่ต้องไม่ลืมอีกอย่างคือ หนังของมาร์ติน สกอร์เซซี เคยกวาดรางวัลออสการ์ในแขนงสาขาอื่นๆ ไปเยอะพอสมควรเช่นกัน เปรียบเป็นทีมฟุตบอล ก็เข้าอีหรอบได้แชมป์ไม่มาก แต่เข้าชิงอยู่เนืองๆ จนนับได้ว่าเป็นขาประจำในฐานะแฟนคลับ ผมเชื่อและรู้สึกว่าสถานะของมาร์ติน สกอร์เซซีนั้น ยิ่งใหญ่เหนือกว่ารางวัลออสการ์ไปไกลแล้ว
Goodfellas ผลงานปี 1990 เป็นบทพิสูจน์ยืนยันที่เด่นชัด ปีนั้นหนังเรื่องนี้ได้เข้าชิงออสการ์ 6 สาขา และชนะเพียงหนึ่ง คือ โจ เปสชี ในสาขานักแสดงสมทบชาย ขณะที่คู่แข่งสำคัญอย่าง Dances With Wolves ของเควิน คอสท์เนอร์ เข้าชิง 12 สาขาและกวาดไป 7 รางวัล
ได้รับเลือกเป็น 100 หนังแก๊งสเตอร์ที่ดีที่สุดตลอดกาล โดย AFI (American Film Institute) ด้วยคะแนนสูงเป็นอันดับสอง (อันดับหนึ่งคือ The Godfather ของฟรานซิส ฟอร์ด คอปโปลา) การทาบรัศมีสุดยอดภาพยนตร์อย่าง The Godfather ไม่ใช่สิ่งที่เพิ่งเกิดขึ้น แต่ปรากฏชัดตั้งแต่ Goodfellas เริ่มออกฉาย หนัง 2 เรื่องนี้ถูกจับคู่เทียบเคียงว่าเป็นด้านตรงข้าม เหมือนหยิน-หยางของแวดวงหนังอาชญากรรม
The Godfather เป็นหนังเกี่ยวกับมาเฟียที่นำเสนออย่างปรุงแต่งประดิดประดอยอย่างวิจิตรบรรจง เต็มไปด้วยบรรยากาศขรึมขลัง สงบนิ่ง สุขุมลุ่มลึก ลีลาสง่างาม Goodfellas กลับตรงกันข้าม หวือหวาจัดจ้าน โลดโผนโจนทะยาน เต็มไปด้วยการเคลื่อนไหวไม่หยุดหย่อน อึกทึกครึกโครม และดิบเถื่อน ทั้ง 2 เรื่องต่างทำได้ถึงพร้อมเป็นที่สุดในแนวทางของตนเอง และได้รับการยกย่องกล่าวขวัญเคียงคู่กันเสมอมาจนถึงปัจจุบัน เช่นเดียวกับที่ The Godfather ได้รับการประเมินว่า เป็นจุดสูงสุดบนเส้นทางการทำหนังของฟรานซิส ฟอร์ด คอปโปลา Goodfellas ก็สามารถนับเนื่องได้ว่าเป็นช่วงเวลาเปล่งประกายถึงขีดสุดในฐานะผู้กำกับของมาร์ติน สกอร์เซซี ดัดแปลงจากงานเขียน Non-fiction เรื่อง WiseguyLife in a Mafia Family ของนิโคลัส ปิเรจจีซึ่งเขียนบทหนังเรื่องนี้ร่วมกับมาร์ติน สกอร์เซซีเล่าถึงประวัติชีวิตของเฮนรี ฮิลล์ อาชญากรที่มีตัวตนอยู่จริง
ด้วยเหตุที่หนังสร้างจากเรื่องจริง เส้นเรื่องหรือพล็อตจึงอยู่ในกรอบบังคับ คือดำเนินเหตุการณ์เรียงลำดับตามเวลา จากทศวรรษ 1950 ไปจนถึง 1980 ในระหว่างนั้นเรื่องราวก็แยกย่อยกระจัดกระจายไปได้หลายทิศทาง ไม่เป็นไปตามโครงสร้างของ ‘เรื่องแต่ง’ ซึ่งมุ่งเน้นไปยัง ‘ใจความหลัก’ มีต้น กลาง ปลายที่ชัดเจน อย่างไรก็ตาม บทหนังก็จัดระเบียบให้กับเรื่องที่เล่า จนเกิดเป็นพล็อตหลวมๆ ได้อย่างชาญฉลาด