The Shining

โรงแรมผีและคนวิปลาส The Shining

เป็นเรื่องประจวบเหมาะที่ผมมีโอกาสได้ดูหนังสยองขวัญคลาสสิก ซึ่งได้รับการยกย่องว่าดีที่สุดตลอดกาล 2 เรื่องในระยะเวลาใกล้เคียงกัน หนึ่งนั้นคือ The Exorcist ผลงานปี 1973 กำกับโดยวิลเลียม ฟรีดกิน ซึ่งกลับมาฉายในโรงภาพยนตร์ เนื่องในวาระที่หนังมีอายุครบ 50 ปี ส่วนอีกเรื่องได้แก่ The Shining ผลงานปี 1980 ของอภิมหาผู้กำกับสแตนลีย์ คูบริค ซึ่งเพิ่งมาเผยใน HBO Go เมื่อไม่กี่วันที่ผ่านมา

 

การดูหนังชั้นครูทั้ง 2 เรื่องนี้ในเวลาไม่ห่างกันนัก ทำให้เห็นทั้งความเหมือนและความต่าง ด้านที่เหมือนคือการทำให้คนดูรู้สึกสะพรึงกลัวจากการสร้างบรรยากาศของหนัง แลดูหลอกหลอน ไม่น่าไว้วางใจ ไม่ชอบมาพากล ชวนเคลือบแคลงใจ ซุกซ่อนอยู่ตลอดเวลา อย่างไรก็ตาม ‘บรรยากาศ’ ซึ่งให้ผลลัพธ์แบบเดียวกัน กลับเกิดจากวิธีทางภาพยนตร์ที่ตรงข้ามห่างไกลกันมาก The Exorcist ใช้ศิลปะของหนัง ทำทุกวิถีทางให้ทุกอย่างที่ปรากฏโน้มเอียงไปทางสมจริง น่าเชื่อถือ เพื่อรองรับเหตุการณ์สำคัญซึ่งเชื่อได้ยาก นั่นคือ ผีสิง และแสดงฤทธิ์เดชแบบจัดเต็ม ขณะที่ The Shining ใช้ศิลปะของหนังปรุงแต่ง ทำให้ฉาก สถานที่ และตัวละคร ดูแปลกประหลาด เหมือนเป็นอีกโลกหนึ่งซึ่งไม่ใช่โลกแห่งความเป็นจริง แต่เป็น ‘ฝันร้าย’ ที่สยดสยองสมบูรณ์แบบ

The Exorcist

จุดต่างสำคัญต่อมา The Exorcist แสดงตนแน่ชัดว่าเป็น ‘หนังผี’ และสิ่งชั่วร้ายในเรื่อง ซึ่งสามารถเรียกขานไปได้ต่างๆ นานาว่า ผี ปีศาจ ซาตาน หรือความเชื่อนอกรีตต่อต้านศาสนา ก็แสดงอิทธิฤทธิ์ร้ายกาจออกมาอย่างไม่บันยะบันยัง ผ่านพฤติกรรม คำพูดคำจา และการอาละวาด ถึงขนาด ‘แรง’ จนชวนให้รู้สึกช็อก (ตรงนี้เมื่อประกอบรวมกับบรรยากาศของหนังที่เน้นความสมจริงเป็นหลัก ทำให้งานชิ้นนี้เต็มไปด้วยความน่ากลัวเอามากๆ)

 

โรงแรมผีและคนวิปลาสนั้นแตกต่างไปอีกทาง มันเป็นหนังที่อยู่บนเค้าโครงเรื่องว่าด้วยโรงแรมผีสิงอย่างไม่มีข้อสงสัย แต่เมื่อสำรวจตรวจตรากันจริงๆ สิ่งที่น่าสะพรึงกลัวมากสุด กลับได้แก่ตัวละครที่เป็นคน และสแตนลีย์ คูบริค ก็เลือกตีความให้หนังสยองขวัญมีแง่มุมทางจิตวิทยา พูดถึงความบ้าคลั่งชั่วร้ายที่ซ่อนลึกอยู่ภายในจิตใจ และค่อยๆ เผยตัวเมื่ออยู่ในสภาพแวดล้อมที่เอื้ออำนวย ขณะที่วิญญาณหรือภูตผีปีศาจสารพัดในโรงแรมเป็นเพียงทีมสนับสนุนอยู่เบื้องหลัง ไม่ได้แผลงฤทธิ์อาละวาด ทำร้ายเหยื่อโดยตรง หรือหากทำร้ายก็ไม่ได้หนักมือเอาเป็นเอาตาย

 

ด้วยลักษณะท่วงทีเช่นนี้ เรื่องเฮี้ยนหลอกหลอนทั้งสิ้นทั้งปวงใน The Shining จึงสามารถมองและตีความไปได้อีกทางหนึ่งว่าเป็นเหตุการณ์ผีหลอกในใจ หรือภาพที่เกิดขึ้นในความคิดของตัวละคร แจ็ค ทอเรนซ์ เรื่องนี้ผมจะขยายความเพิ่มเติมทีหลังนะครับ กล่าวเฉพาะหน้า ความสยองขวัญในอรรถรสที่แตกต่างกัน ระหว่าง The Exorcist และ The Shining น่าจะเป็นหนึ่งในสองสาเหตุสำคัญที่ทำให้ผลตอบรับเมื่อแรกออกฉายแตกต่างตรงกันข้ามโดยสิ้นเชิง

 

โรงแรมผีและคนวิปลาส สร้างปรากฏการณ์เป็นหนังฮิตทำรายได้ถล่มทลายไปทั่วโลก และสร้างปฏิกิริยาหวาดกลัวของผู้ชมจนกลายเป็นข่าวเกรียวกราว มีทั้งที่เป็นลมด้วยความตระหนกตกใจ กลัวจนไม่อาจทนดูจบ พะอืดพะอมจนต้องอาเจียน (แน่นอนว่า อาการต่างๆ เหล่านี้ถูกนำมาใช้ในการโฆษณาประชาสัมพันธ์ จนทำให้คนที่ไม่เคยนึกสนใจมาก่อนเกิดความอยากพิสูจน์ว่าตัวหนังจะน่ากลัวมากเพียงไร)

 

อาจจะไม่เกี่ยวข้องกันโดยตรง แต่ผมคิดว่า ณ ช่วงเวลานั้น The Exorcist ได้วางมาตรฐานใหม่ให้กับแวดวงหนังสยองขวัญ ทำให้ผู้ชมเกิดความคาดหวังว่าจะได้พบเจอความสยดสยองในระดับใกล้เคียงกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง หนังเรื่อง โรงแรมผีและคนวิปลาส ที่สร้างขึ้นในอีก 7 ปีต่อมา รวมถึงชื่อเสียงและบารมีของผู้กำกับอย่างสแตนลีย์ คูบริค

 

Scroll to Top